Psychosis Home Other Web Contact

โรคจิตเภท

โรคจิตเภท

โรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นโรคที่มีความผิดปกติของบุคลิกภาพ มีความผิดปกติด้านการรับรู้ที่มีลักษณะเฉพาะเป็นแบบจำเพาะและอารมณ์เป็นแบบไม่เหมาะสม หรือ Blunted สติสัมปชัญญะและเชาวน์ปัญญามักดีอยู่ แม้ว่าจะมีการสูญเสียการรับรู้

โรคจิตเภทกับโรคจิตเวชแตกต่างกันอย่างไร?
โรคจิตเวช หรือโรคทางจิตเวช คือปัญหาที่เกี่ยวกับจิตใจ เกิดจากความผิดปกติของสมองที่ควบคุมเรื่องความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพล่าร์ โรคจิตเภท โรควิตกกังวล โรคแพนิค โดยศาสตร์ความรู้เกี่ยวกับโรค และการรักษาเรียกว่าจิตเวชศาสตร์ และแพทย์ที่ศึกษาเฉพาะทางด้านนี้เรียกว่าจิตแพทย์ส่วนโรคจิตเภท หรือที่ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Schizophrenia เป็นส่วนหนึ่งในโรคทางจิตเวช คือภาวะที่สมองมีความผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีความคิดหรือการรับรู้ที่ผิดปกติ เช่น หลงเชื่อผิดๆ ว่าจะมีคนมาทำร้าย รวมถึงสัมผัสผิดปกติ มีอาการหูแว่ว เห็นภาพหลอน ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมหรือคำพูดที่ดูแปลกกว่าคนทั่วไป โดยโรคจิตเภทสามารถพบได้ในทุกช่วงวัย แต่มักจะเกิดในวัยรุ่น ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น โรคจิตเภทเป็นภาวะความเจ็บป่วยอย่างหนึ่งของมนุษย์ โดยที่ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรม ความคิด แตกต่างจากบุคคลทั่วไปอย่างมาก

อาการเริ่มต้นของโรคจิตเภท 
อาจเกิดในแบบเฉียบพลันทันที หรือเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ ในกรณีที่อาการเริ่มต้นเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป จะมีอาการเริ่มต้นอย่างช้าๆ อาจมีอาการสับสน มีความรู้สึกแปลกๆ ไม่อยู่ในความเป็นจริง อาการจะค่อยๆ มากขึ้น ทำให้ครอบครัวและคนรอบข้างรู้สึกว่าผู้ป่วยเปลี่ยนไปจากบุคลิกภาพเดิม เช่น แยกตัว ไม่อยากสุงสิงกับใครมีอาการระแวงคนอื่น มีปัญหาการนอนหลับ ไม่สามารถรับผิดชอบหน้าที่การงาน การเรียน ได้เหมือนปกติ ค่อยๆ หมดความสนใจสิ่งต่างๆ รอบตัว รวมถึงการดูแลสุขภาพอนามัยส่วนตัว อาการเหล่านี้ เป็นอาการเริ่มต้นที่ช่วยเตือนว่า อาจจะมีการเริ่มต้นของโรคจิตเภทแล้ว

อาการโดยทั่วไปของโรคจิตเภท
สำหรับอาการของโรคนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยรวมจะมีทั้งหมด 5 ข้อหลักๆ โดย 4 ข้อแรกจะเป็นอาการแบบบวก คือ แสดงกิริยามากกว่าคนทั่วไป และข้อสุดท้ายจะเป็นอาการแบบลบ คือ แสดงกิริยาน้อยกว่าคนทั่วไป
1. อาการหลงผิด คือ อาการที่ผู้ป่วยเชื่อว่าเกิดขึ้นจริง ทั้งที่ไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้น
2. การรับรู้ที่ผิดปกติ คือ การที่ไม่มีสิ่งเร้าใดๆ เกิดขึ้น แต่ผู้ป่วยกลับคิดว่ามี เช่น หูแว่ว ภาพหลอน การได้กลิ่น หรือสัมผัส
3. การพูดผิดปกติ ตอบไม่ตรงคำถาม พูดไม่ปะติดปะต่อ หรือมีภาษาแปลกๆ ที่คนทั่วไปฟังแล้วไม่เข้าใจ
4. มีพฤติกรรมที่แปลกไป โดยเป็นผลมาจากความคิดที่รวน ส่งผลให้มีพฤติกรรมที่แปลก เช่น ลุกขึ้นมารำ หรือเดินไปเดินมาไม่มีเหตุผล
5. อาการแบบลบ เช่น ไม่ค่อยมีอารมณ์กับสิ่งรอบตัว หน้านิ่ง เฉยเมย ไม่มีแรงบันดาลใจ เป็นต้น

นอกจากนั้นอาการของโรคจิตเภทยังสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะเริ่ม หรือระยะก่อโรค
ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการด้านลบ แยกตัว ไม่ค่อยอยากทำอะไร อาการจะเริ่มก่อตัวแบบใช้เวลา 6 เดือนขึ้นไป
ระยะกำเริบ
จะเริ่มเห็นอาการด้านบวกมากขึ้น เช่น หูแว่ว หลงผิด ระแวง พูดจาแปลกๆ โดยหากมีระยะกำเริบ ควรรีบพบแพทย์
ระยะหลงเหลือ
เป็นระยะที่ผ่านการรักษามาแล้ว แต่ยังมีอาการหลงเหลืออยู่ เช่น จากระแวงมั่นใจว่ามีคนมาทำร้าย เหลือเป็นสงสัยว่าอาจมีคนจะทำร้าย โดยผู้ป่วยหลายคนเมื่อรักษาแล้วหายสนิท จะไม่มีอาการช่วงนี้

สาเหตุของโรคจิตเภท สามารถแบ่งได้เป็นปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก ดังนี้
ปัจจัยภายใน
เป็นสาเหตุหลักเลยก็ว่าได้ โดยเกิดจากสารสื่อประสาทรวนอาจมาจากร่างกายของผู้ป่วยเอง พันธุกรรม หรือสารเคมีที่ได้รับ เช่น สารเสพติด หรือยารักษาโรคอื่นๆ ของผู้ป่วยเอง
ปัจจัยภายนอก
อาจมีสาเหตุมาจากโรคเครียด การเลี้ยงดู ครอบครัว การทำงาน หรือปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเครียดมาก โดยอาจเข้าไปกระตุ้นให้เกิดอาการได้

การรักษาโรคจิตเภท
มีวิธีการรักษาที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อข่วยผู้ป่วยจิตเภทนี้หลายวิธี
1.ยาต้านโรคจิต ยาต้านโรคจิตได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเมื่อประมาณ 40 กว่าปีก่อน ซึ่งช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเภทได้มากทีเดียวในการลดอาการที่ป่วยอยู่ และช่วยให้กลับมาทำงานได้เกือบเหมือนเดิม แต่ยาก็ยังไม่สามารถรักษาผู้ป่วยจิตเภทให้หายขาดได้ หรือไม่สามารถรับประกันได้ว่าอาการของโรคจะกำเริบกลับมาเป็นใหม่อีก
ตัวยาและขนาดของยาจะต้องสั่งโดยแพทย์ผู้ชำนาญเท่านั้น จะต้องกินยาต้านโรคจิตไปนานเท่าไร เป็นคำถามที่ผู้ป่วยและญาติจะถามบ่อยมาก พบว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยจิตเภทถ้าไม่ได้รับยาต่อเนื่องมักมีอาการกลับเป็นซ้ำของโรคอีก เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่มักจะต้องใช้ยารักษา เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรค ผลข้างเคียงของยาต้านโรคจิต ยาต้านโรคจิตก็เหมือนยาทั่วๆไปคือมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ในช่วงแรกหลังจากที่ได้รับยาผู้ป่วยมักจะมีอาการง่วงนอน กระสับกระส่าย ปวดเมื่อย ตัวสั่น ตาพร่ามัว ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถรักษาได้ด้วยยาอีกตัวหนึ่งที่แก้ผลข้างเคียงเหล่านี้
2. การฟื้นฟูสภาพจิตใจ เป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยจิตเภทโดยที่ไม่ใช้ยา โดยจะเน้นในด้านการฝึกการเข้าสังคม การฝึกอาชีพเพื่อช่วยผู้ป่วยเอาชนะกับปัญหาที่เกิดขึ้นในด้านของสังคมหรือหน้าที่การงาน ซึ่งโปรแกรมของการฟื้นฟุสภาพจิตใจนี้จะรวมถึงการให้คำปรึกษาในด้านอาชีพ การเข้าสังคม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยประสบความสำเร็จในด้านนี้หลังจากที่หายจากโรค และเริ่มออกไปใช้ชีวิตในสังคม
3. การทำจิตบำบัด เป็นการรักษาโดยใช้วิธีพูดคุยระหว่างผู้ป่วยกับผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ จิตแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา ในเรื่องปัญหา ประสบการณ์ ความคิด ความรู้สึก ความสัมพันธ์ต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจตนเองและปัญหาของตนเองมากขึ้น และเรียนรู้ที่จะแยกแยะสิ่งที่เป็นความจริงกับที่ไม่ใช่ความจริง
4. ครอบครัวบำบัด ครอบครัวบำบัดจะเป็นการรักษาที่มีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องคือ ผู้ป่วย ญาติพี่น้อง และผู้รักษา ซึ่งมีวัตถุประสงค์แตกต่างกันออกไปหลายอย่าง เช่น ช่วยให้ครอบครัวเข้าใจเกี่ยวกับโรคจิตเภท และปัญหาเกี่ยวกับโรคนี้ ช่วยให้ครอบครัวเข้าใจวิถีทางที่จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการลดน้อยลง
5. กลุ่มบำบัด กลุ่มบำบัดเป็นวิธีการรักษาที่มีผู้เกี่ยวข้องคือ ผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง จำนวนประมาณ 6-12 คน กับผู้รักษา 1-2 คน มาร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของกันและกัน พร้อมกับช่วยกันแก้ไขพฤติกรรมที่ผิดปกติต่างๆ จากการพูดคุยกันภายในกลุ่ม ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างมากในช่วงที่จะต้องกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิมหลังป่วย ซึ่งอาจจะต้องพบปัญหาต่างๆมากมายในช่วงนั้น
จะมีกลุ่มบำบัดอีกประเภทหนึ่งซึ่งผู้ป่วยจัดขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือกันเองโดยไม่มีผู้รักษา แต่ก็มีประโยชน์ เพราะผู้ป่วยแต่ละคนอาจได้รับการช่วยเหลือประคับประคองด้าน จิตใจซึ่งกันและกัน และรู้ว่าตนไม่ได้เผชิญปัญหาอยู่คนเดียว

วิธีรับมือและอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคจิตเภท
สามารถแบ่งได้ 2 กลุ่ม ดังนี้ 1. คนในครอบครัว คนในครอบครัวควรเข้ามาพบแพทย์ร่วมกับผู้ป่วย หรือหาความรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ ว่าโรคจิตเภทคืออาการป่วยอย่างหนึ่ง ไม่ใช่นิสัยของผู้ป่วย ซึ่งครอบครัวควรทำความเข้าใจก่อนว่าผู้ป่วยไม่ได้มีความตั้งใจที่จะแสดงอาการเหล่านี้ออกมา จะได้ไม่เกิดการตำหนิกันขึ้น โดยเมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการ ทางครอบครัว ควรชวนมารับการรักษา และคอยช่วยให้เขารับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้อาการดีขึ้น และไม่มีอาการกำเริบในระยะยาว
2. บุคคลอื่นๆ ในสังคม หากผู้ป่วยเกิดอาการกำเริบ ไม่ว่าจะทางบวกหรือทางลบ ก็ไม่ควรแสดงอาการรังเกียจ โดยให้คิดว่าเป็นเหมือนอาการป่วยของโรคทั่วๆ ไป หรือในบางครั้งเราอาจมีเพื่อนร่วมงานเป็นผู้ป่วยจิตเภทที่อยู่ในระยะยะหลงเหลือ ซึ่งเขาอาจจะทำอะไรช้าหรือพูดช้า ก็ควรเปิดใจให้มากขึ้น รอคอยเขาหรือเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ไม่ควรไปเร่ง เนื่องจากจะทำให้ผู้ป่วยยิ่งกดดัน และมีอาการมากขึ้น

เกร็ดความรู้
ญาติมีส่วนช่วยในการดูแลผู้ป่วยจิตเภท
1.ช่วยดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ไม่ครวเพิ่ม หยุด หรือลดยาเอง
2.ช่วยพาผู้ป่วยไปรับการบำบัดรักษาให้สม่ำเสมอ ตรงตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ให้การดูแลตัวเองได้ไม่ดีพอ
3.ถ้าผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่ดูสับสน วุ่นวาย ดื้อ ไม่ยอมกินยา ไม่ยอมมาพบแพทย์ ญาติควรจะมาติดต่อกับแพทย์ เพื่อเล่าอาการของผู้ป่วยให้แพทย์ทราบซึ่งญาติจะได้รับคำแนะนำ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไป
4.หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของผู้ป่วย ถ้าพบความผิดปกติ เช่น พูดพร่ำ พูดเพ้อเจ้อ พูดคนเดียว เอะอะ อาละวาด หงุดหงิด ฉุนเฉียว หัวเราะหรือยิ้มคนเดียว เหม่อลอย หลงผิด ประสาทหลอน หวาดกลัว ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที
5.จัดหากิจกรรมให้ผู้ป่วยทำโดยเฉพาะในเวลากลางวัน เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยคิดมาก ฟุ้งซ่าน แต่ก็ไม่ต้องถึงกับบังคับมากเกินไป

ย้อนกลับ หน้าต่อไป

โรคซึมเศร้า โรคแพนิค โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคไบโพล่า โรควิตกกังวล โรคสมองเสื่อม โรคสมาธิสั้น โรคกลัวแบบเฉพาะ โรคหลายอัตลักษณ์ โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ